ปาฎิหาริย์ฝ่ามือมิตรภาพ

ปาฎิหาริย์ฝ่ามือมิตรภาพ

อนุมูล อิสระ

หมู่บ้าน อุมาจิมูระ

เมื่อแรกรู้จักกัน ฉันรู้สึกในทันใดว่า ปายเป็นเหมือนเมืองในฝันของหนุ่มสาวคนเมือง เพราะวิถีชีวิตเรียบง่ายกับธรรมชาติงดงามรื่นรมย์  แม้เดินทางไปยาก  แต่เสน่ห์ล้ำลึกกลับดึงดูดผู้คนให้ไปเยือนไม่เคยขาด  บางคนถึงกับโยกย้ายชีวิตไปอยู่ที่นั่น  ดังนั้นเมื่อแรกพบ อุมาจิมูระ หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดโคจิ ประเทศญี่ปุ่น จึงทำเอาหัวใจฉันพองโตด้วยความตื่นเต้น เพราะเหมือนได้พบเจอเพื่อนเก่าโดยบังเอิญ  ก่อนจะเปลี่ยนเป็นความอิ่มเอมใจเมื่อได้เดินลึกเข้าไปในกลางใจหมู่บ้านแห่งนี้

ก็เหมือนที่บอกนั่นแหละ หมู่บ้านเงียบๆ เรียบๆ ออกไปทางนิ่งสงัด ได้ยินบ้างก็เพียงสายน้ำใสไหลเย็นผ่านกลางหมู่บ้าน แต่ก็เป็นไปเพียงแว่วผ่านมาแต่ไกลๆ ธรรมชาติเขียวครึ้มของฤดูฝน เก้าอี้ไม้สำหรับนั่งเล่น ตั้งสงบนิ่งที่ริมตลิ่ง นานๆ จึงมีรถยนต์แล่นสวนทางจักรยานที่ฉันถีบอยู่บ้าง  ยังไงก็นึกไม่ออกว่าจะมีอะไรสนุกๆ ให้ทำได้อย่างไร 

ฉันมันพวกคนเดินช้าแถมนาฬิกาในสมองยังถ่านอ่อน จนสามารถปล่อยอารมณ์ รอคอยความชื่นบานให้เดินทางมาหาได้อย่างไม่สะทกสะท้าน อันนี้เป็นความเชื่อส่วนตัวว่า ไอ้ความช้านี่แหละที่ทำให้ประสาทสัมผัสของเราแปรสภาพเป็นดั่งเครื่องสแกนความรู้สึกชั้นดี 

หายใจไปเรื่อยๆ เดี๋ยวความสุขก็ปรากฎตัวออกมาเอง

แต่บ้างครั้ง เธอก็จู่โจมเราราวปฎิหาริย์!!

เช้าวันที่เรามีนัดไปตกแต่งต้นไม้เนื่องในวัน ทานาบาตะ  วันที่เจ้าหญิงแห่งดาวทอผ้าจะได้ข้ามทางช้างเผือกมาหาชายเลี้ยงวัวคนรัก  เด็กๆ ตัวน้อยนักเรียนชั้นอนุบาลของหมู่บ้านมาช่วยกันคนไม้คนละมือ  ฉันสมัครใจเป็นตากล้องมือไว  กดชัตเตอร์ถ่ายภาพพวกเขาอย่างเมามัน  นายแบบนางแบบกิตติมศักดิ์อยู่ตรงหน้านับสิบมีหรือจะยอมพลาด  นี่แหละเรื่องสนุกของฉัน 

ขณะกำลังนั่งเปลี่ยนฟิล์มม้วนใหม่ มือน้อยๆ ยื่นแผ่นป้ายไม้ซึ่งผูกด้ายพันยุ่งเยิงมาตรงหน้า จากภาษากายบอกฉันว่าเธอต้องการความช่วยเหลือ  ฉันปล่อยด้ายให้เป็นอิสระ แล้วผูกวงให้ใหม่เพื่อให้หนูน้อยแขวนมันกลับไปที่ต้นไม้ได้ง่ายขึ้น 

อ๊ะ! อ๊ะ! ยังไม่ใช่ตอนสำคัญนั่นนะ  รออีกนิดให้พวกเราตกแต่งต้นไม้เสร็จเสียก่อน  คุณครูผู้ทุ่มเทส่งเสียงเรียกเด็กๆ  เราจะกลับโรงเรียนแล้ว จะชวนพี่ๆ ไปเที่ยวโรงเรียนด้วย ช่วยเดินจูงมือพี่ๆ ไปด้วยนะคะ 

สิ้นคำครูฉับพลันฉันรู้สึกอุ่นที่มือ พอหันไปมอง ก็สบตาเข้าอย่างจังกับลักยิ้มน้อยที่แก้มแดงใส และเม็ดตาเล็กๆ สีดำสนิท  “หนูจะพาพี่ไปเอง”  แววตาแข็งขันเหมือนจะบอกฉันอย่างนั้น 

ขณะเดินไปโรงเรียนฉันรู้ว่าวันนี้จังหวะการเดินของฉันเปลี่ยนไป  บางก้าวกลายเป็นการโยนตัวลอยน้อยๆ ตามผู้นำทาง  สนุกดีแถมยังรื่นรมย์กว่าวันที่ผ่านมาด้วย ฝ่ามือเล็กๆ ในอุ้งมือ ของฉัน เรากุมมือกันแนบสนิท ความสุขไหลผ่านเส้นเลือดใหญ่สู่หัวใจพอดี   

แต่มีหรือที่จะหยุดแค่นี้….

เด็กน้อยผูกป้ายอธิษฐาน

ภารกิจของการมาครั้งนี้ คือการติดตาม มุทิตา พานิช น้องสาวที่รู้จักคุ้นเคยกัน  ผู้แปลหนังสือ “ประสบการณ์ยิ่งใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ”  ซึ่งเขียนโดย คุณมาซาฮิโกะ โอโตชิ  ( จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา) มาร่วมงานเสวนาและงานฉลองของหมู่บ้าน

หนังสือ gokkun umajimura no mura okoshi  เป็นความเรียงกึ่งสารคดี  เก็บบันทึกการพูดคุยกับคนในหมู่บ้าน และความประทับใจของคุณโอโตชิที่มีต่อหมู่บ้านในหุบเขาแห่งนี้  

อุมาจิเป็นหนึ่งในหลายหมู่บ้าน  ที่กำลังประสพปัญหาหลักของประเทศญี่ปุ่นปัจจุบัน  คือ  คนหนุ่มสาวทิ้งบ้านเกิดไปทำงานในเมืองใหญ่  เหลือไว้แต่คนแก่และบ้านที่ไร้คนดูแล 

ในหนังสือเล่าว่า  อุมาจิเคยเป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมป่าไม้มาก่อน  มีการออกแบบกระเป๋าที่ทำจากไม้สน  สวยระดับส่งออกเมืองหลวงแห่งแฟชั่นอย่างปารีส  ฉันเองยังอดใจไม่ไหวอุดหนุนมาเดินถือเสีย 1 ใบ  เหงื่อตกตอนตลบกระเป๋าควักเงินจ่าย  แต่ก็ปลื้มหน้าบานตอนใคร ๆ ก็ตาโตชื่นชมความเก๋ เท่ห์ของกระเป๋าไม้สนบ้านอุมาจิกันทุกคน

ที่นี่มีพื้นที่เพาะปลูกน้อย  บ้านเกือบทุกหลังจึงปลูกต้นส้มยูสุไว้ทั่วไปตามหน้าผา  ส้มซึ่งปกติผู้คนไม่นิยมกิน  เพราะรสชาติไม่อร่อยเหมือนผลไม้ทั่วไป  มีแต่รสค่อนข้างเปรี้ยวเอามาก ๆ  จะมีก็แต่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์  ที่สกัดความหอมของน้ำมันจากเปลือกยูสุมาใช้  

เมื่อมีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่อยู่เฝ้าบ้าน   ต้นส้มเหล่านั้นจึงถูกดูแลไปตามธรรมชาติ  ออกผลผลิตมากบ้างน้อยบ้าง  แถมรูปร่างที่ได้มาก็ไม่สวย  นำออกไปขายก็ไม่ได้ราคา  แต่ข้อเสียนี้ทำให้ได้ผลลัพธ์บางอย่าง  คือ  ยูสุของอุมาจิ กลายเป็นส้มเกษตรอินทรีย์  ไร้สารเคมีทุกขั้นตอน  กลับเป็นข้อดีแข็งแรงเหลือเชื่อไปโดยไม่ต้องพยายาม

ลุงโมจิฟูนิ โตตานิ  หัวหน้าแผนกธรรมดา ๆ ของสหกรณ์การเกษตรอุมาจิ   ผู้ริเริ่มนำส้มเหล่านั้นมาคิดค้นสูตร  เป็นเครื่องดื่มหวานอมเปรี้ยวแต่หอมชื่นใจ  ตั้งชื่อให้ด้วยว่า  กกกุน อุมาจิมูระ  หรือ เจ้าเอื้อก แห่งบ้านอุมาจิ  ซึ่งมีที่มาจากเสียงดื่มกลืนน้ำส้มอั้กๆ ของเด็กๆ เมื่อได้ลิ้มลอง  เทเอื้อกเดียวหมดขวด  เป็นผลิตภัณฑ์ของน้ำส้มยูสุพร้อมดื่มรสหอมสดชื่น  ซึ่งดื่มแล้วเบิกบานเป็นที่สุด  

อันนี้รับรองได้ด้วยตัวเองเลย  ทุกวันที่พักในหมู่บ้าน  ฉันเป็นต้องวนเวียนผ่านหน้าตู้แช่ ‘เจ้าเอื้อก’ วันละ 3 รอบเป็นอย่างน้อย  ตีคู่มากับเซ็ทอาหารกลางวัน  ข้าวญี่ปุ่นหุงเตาถ่าน  กับไก่ทอดราดน้ำส้มยูสุแท้  เมื่อกัดกินชิ้นไก่กรอบกำลังดี  ควันลอยฉุยพาเอากลิ่นหอมจาง ๆ ของส้มยูสุผสมมาด้วย  คือความสุขปลายตะเกียบแท้ ๆ จริง ๆ

เจ้าเอื้อก เป็นพระเอกของหมู่บ้าน  ที่นำพาหลายสิ่งให้เดินทางเข้ามา  ยิ่งได้ภาพวาดแสนน่ารักของศิลปินบ้านป่า สไตล์อุมาจิแท้ ๆ มาพิมพ์เป็นฉลากปิดขวดยิ่งทำให้น่าสนใจ  ศิลปินนักแต่งเพลง  ดื่มเจ้าเอื้อกแล้วแต่งเพลงประจำตัวให้  ทำให้ภาพของหมู่บ้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

แต่สิ่งหนึ่งที่ลุง และคนในหมู่บ้านยังยึดถือ และพยายามไม่ให้กระแสเศรษฐกิจของสัมคมพัดพาไป  คือ กฎของป่าซึ่งมีอยู่ว่า  ‘อย่าทำเกินตัว และอย่าทำร้ายตัวเอง’

ด้วยความจำกัดทางภาษา  ในตอนท้ายของงานเสวนา ในฐานะแขกผู้มาเยือน  ฉันทำได้เพียงบอกเล่าความรู้สึกที่กระทบใจกับบ้านอุมาจิ และการทำงานของสหกรณ์การเกษตร ผ่านทางมุทิตา น้องสาวผู้เป็นทั้งล่ามและเพื่อนร่วมทาง มีความในใจบางอย่างที่ฉันได้ค้นพบ 

“ที่นี่ทำให้ฉันศรัทธาในงานของตัวเองมากขึ้น และมันเป็นสิ่งสำคัญมากในการดำรงอยู่ของความฝัน …ขอบคุณนะคะ” 

ก่อนไปงานเลี้ยงฉันได้รับคำเชิญที่ทำเอาตื่นเต้น “พวกเราเตรียมชุดยูกาตะแบบคนญี่ปุ่นไว้ให้ลองใสนะคะ” ฉันแอบตาโตในใจ ก็มันเป็นความใฝ่ฝันเล็กๆ ของผู้หญิง  อาจจะหลายคน ๆ เลยล่ะ  ซึ่งกำลังจะเป็นจริงนี่นา  นึกภาพตัวเองในชุดญี่ปุ่นสีสวยแล้วหัวใจก็เบิกบานคับอกเสียอย่างนั้น

แค่กำลังนั่งดูมุจังแต่งตัวก็ตื่นเต้นเสียแล้ว อีกซักพักก็ถึงคราวของฉัน ใจเต้นตึ้กต้ักดีจัง…  

ชุดยูกาตะออกแบบไว้น่าสนใจ เป็นเพียงเสื้อคลุมหลวมๆ ไม่มีกระดุม ไม่มีตัวล็อกใดๆ ที่จะกำหนดขนาดของคนใส่  เมื่อเราสวมเสื้อเข้าไปแล้ว  ก็ตลบป้ายตัวเสื้อด้านหน้าทบสลับกันซ้ายขวา  ตรงนี้เองที่เราสามารถขยับพับตัวเสื้อให้สั้นยาวตามความสูงของคนใส่  แล้วพันล็อกรอบตัวไว้ด้วยโอบิสีสดตัดกับตัวเสื้อก็เป็นอันเสร็จพิธี  รับรองแน่นหนา ไม่ลื่นไหลหล่นร่วงลงมาให้ขายหน้าเป็นแน่

คุณป้าที่โรงแรมรับหน้าที่ช่วยพวกเราแต่งตัว  แกว่าเราสองคนเหมาะกับชุดเลยนะ  ใส่แล้วน่ารักเหมือนคนญี่ปุ่นเลย ฉันยิ้มแก้มปริ 

ขณะพันโอบิแผ่นกว้างให้รอบตัว ต่อด้วยจัดแต่งชุดให้เรียบร้อยสวยงาม มือของป้าขยับเคลื่อนไปตามเนื้อผ้าลายดอกไม้สีน้ำเงินสด จังหวะที่ฝ่ามือของป้าลูบผ่านชายโครงด้านซ้าย หัวใจของฉันรู้สึกอิ่มเอมเอ่อล้นขึ้นมาเสียเฉยๆ  ยิ่งตอนได้สบตาป้า  รอยยิ้มและแววตานั้นบอกฉันว่า ป้าไม่ได้เพียงมาบริการแต่งตัวให้พวกเราเท่านั้น แต่แกใส่ความเอ็นดูลงไปขณะดูแลพวกเราด้วย 

ชุดยูกาตะคืนนั้นจึงทำให้ฉันอุ่นสบาย เพราะนอกจากผ้าสวยเนื้อดีแล้ว ยังมีมิตรภาพของป้าห่มคลุมอยู่ด้วย

คืนนั้นในงานเลี้ยง อาหารที่ฉันชอบมากที่สุดคือ ซูชิผักป่า ถือเป็นอาหารธรรมดาที่ไม่ธรรมดาจริงๆ คุณโทโมโกะ เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์การเกษตรบอกฉันว่า “ข้าวปั้นกินตามร้านไม่อร่อยหรอกต้องกินที่บ้าน เพราะเป็นรสมือของแม่ที่ไม่มีใครเหมือน” ถึงตอนนี้ฉันอยากฝากบอกเธอด้วยว่า ฉันโดนเสน่ห์แห่งรสฝ่ามือแบบนั้นมัดใจเข้าให้แล้วอย่างจัง 

ในหนังสือ “ประสบการณ์ยิ่งใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ”  พูดถึงอาหารบ้านป่าหลายครั้ง  และพูดถึงซูชิของป้าซึมิจังก็หลายหน  เพราะความพิเศษของข้าวปั้นที่มีน้ำส้มยูสุแท้ผสมแทนน้ำส้มสายชูทั่ว ๆ ไป  จนฉันหมายมั่นปั้นความตั้งใจตั้งแต่เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า  เดินทางมาครั้งนี้ว่า ต้องขอชิมซูชิของป้าซักครั้งให้จงได้  ใครจะคาดคิดว่าโอกาสเช่นนั้นมีมาถึงฉันมากกว่าหนึ่งมื้ออาหาร 

ชิ้นที่พิเศษสุดแม้แต่เพื่อนคนญี่ปุ่นในเมืองไทยยังเอ่ยปากบอกว่า  ฉันโชคดีจังที่ได้ชิม ก็คือ  ซูชิใส้ก้านวาซาบิ  แล้วห่อด้วยใบชิโสะ… ซึโค้ยสุดยอด….โออิชิ  อร่อย มาก มาก  ขณะเคี้ยวรวม ๆ กันไป ความหวานของข้าวญี่ปุ่นอุ่น ๆ ผสมกลิ่นหอมแปลกจากก้านวาซาบิ กับใบชิโสะที่ปลายจมูก  แล้วยังความฉุนเผ็ดของวาซาบิสดลอยขึ้นโพรงจมูกกำลังดี  ฉันเต็มใจกลืนกินความฉุนเผ็ดนั้น  ด้วยรอยยิ้มปริ่มน้ำตาจริง ๆ

เช้าวันสุดท้ายที่หน้าสำนักงานอบต. ป้าซึมิโกะมายืนรอส่งพวกเราขึ้นรถ พร้อมข้าวปั้นจาน สุดท้ายให้ติดตัวไปกินระหว่างทาง 

“มาเที่ยวอีกนะ ป้ารู้ว่ามันต้องใช้เงินมาก แต่ถ้ามีโอกาสมาอีกนะ แต่อย่านานนักนะ เดี๋ยวป้าแก่ไปแล้วจะปั้นซูชิให้กินไม่ไหว” 

ฉันโอบกอดป้าเพื่อแอบซ่อนน้ำตาที่กำลังจะไหล  แม้ไม่ได้พูดอะไรแต่ฉันก็สัญญากับตัวเองในใจ ว่าต้องกลับมาหาป้าอีกให้ได้

ก่อนขึ้นรถออกจากหมู่บ้าน พวกเราวนกลับมานั่งคุยกับผู้ใหญ่บ้านแห่งอุมาจิมุระอีกครั้ง  ในห้องทำงาน ทุกอย่างยังเหมือนเดิมเช่นเมื่อวันแรกที่มาถึง สวนหย่อมเขียวครึ้ม กับก้อนหินที่จัดวางอย่างลงตัวที่นอกบานกระจก เรียบง่ายแต่งดงามตามแบบฉบับญี่ปุ่น แฟ้มเอกสารที่ทำจากไม้สนสีอ่อนเรียงรายในตู้เอกสาร ห้องนี้ยังเป็นห้องทำงานที่น่าอิจฉาเหมือนเดิม แต่ความรู้สึกของฉันไม่เหมือนเดิม 

ผู้ใหญ่บ้านมอบทะเบียนบ้านอุมาจิให้พวกเรา  และบอกว่า  พวกเขายินดีต้อนรับพวกเราเป็นสมาชิกของหมู่บ้านแห่งนี้  กลับมาอีกเมื่อไหร่ก็ขอให้คิดว่าได้กลับมาเยี่ยมบ้านก็แล้วกันนะ ลุงโตตานิก็บอกขอไม่เก็บค่าที่พัก  เพราะลุงรู้สึกเหมือนได้ต้อนรับลูกหลาน  มิใช่เพียงแค่นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านมาเท่านั้น

ด้านหลังโซฟาที่พวกเรานั่งคุยกับผู้ใหญ่  มีข้าวของซึ่งแขกผู้มาเยือนหมู่บ้านหลายคนทิ้งไว้ให้เป็นของที่ระลึก  วันไหนคนทำความสะอาดสังเกตดี ๆ  อาจเห็นหัวใจลายธงชาติไทยแอบซุกตัวรวมอยู่ด้วย

พวกเราใช้เวลา 6 วัน 6 คืินที่บ้านเจ้าเอื้อก แม้รู้ว่าไม่ใช่เวลานานมากพอที่จะทำให้เราเรียนรู้ใครได้อย่างลึกซึ้ง  แต่บางครั้งมิตรภาพก็ไม่่ต้องการเวลานานนี่นา มันเกิดขึ้นเองโดยที่เราไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ ตราบเท่าที่เรามองย้อนกลับไปเมื่อไหร่ แล้วอิ่มหัวใจได้ทุกครั้งก็น่าจะเพียงพอ 

“ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป” ผู้ใหญ่บอกเราในวันสุดท้ายวันนั้น  หมู่บ้านก็ต้องดำเนินไปเช่นกัน 

ฉันรู้แต่ว่า สัมผัสของฝ่ามือเหล่านั้นปล่อยฤทธิ์ความอาลัยอาวรณ์ใส่ฉันอย่างจัง ก่อนจะแปรเปลี่ยนไปเป็นพิษความคิดถึงในวันต่อๆ มา

  • หมายเหตุ : อุมาจิมุระ  เป็นบ้านนอกที่ออกจะเดินทางไปยากสักนิดสำหรับคนที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น   แต่ก็มีเว็ปไซน์ให้สำหรับทดลองติดต่อสอบถาม  และศึกษาดูการเดินทาง   แม้ไม่อาจสื่อสารกันด้วยคำพูด  แต่ฉันก็เชื่อมั่นว่า  ความมีชีวิตชีวา และความช่างเจรจรของหมู่บ้านแห่งนี้  จะทำให้นักเดินทางคุ้นเคย  และสบายใจได้ไม่ยากเลย

https://www.jetro.go.jp/en/ind_tourism/umaji_village.html

และเว็ปไซน์สำหรับเข้าไปเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้าน  http://www.yuzu.or.jp/

แสดงความเห็น