อนุมูล อิสระ
น้องคนหนึ่งของฉันส่งตัวเองไปเรียนต่อที่วิทยาลัยในรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา จนจบออกมาทำงานอยู่ที่นั่น เวลาช่างรวดเร็ว และเนิ่นนานไปพร้อม ๆ กัน นานมากพอที่หม่าม้าจะตัดสินใจยอมปล่อยวางกิจการที่ดูแลเองกับมือมาตลอด ไม่เคยมีวันพักร้อน เพื่อออกเดินทางไกล พร้อมตั่วเจ้ หยี่เจ้ และน้องหมวย (ลูกสาวหยี่เจ้) ทุกคนยกเว้นฉัน เดินทางออกนอกประเทศไทยเป็นครั้งแรกในชีวิต เดิมทีตั้งใจจะเดินทางตั้งแต่วันที่ 4 กันยา แต่เพราะความผิดพลาดจากการดำเนินเรื่องขอวีซ่า ทำให้เราล่าช้าและต้องเลื่อนการเดินทางไปเป็นเช้ามืดวันที่ 11 กันยา 2544 พอดี
นอกจากอวยชัยให้พรแล้ว พี่ ๆ เพื่อน ๆ หลายคนให้คำเตือนติดตัวไปด้วย “อาหารประเภทหมูอย่าเอาไปนะ เขาไม่ให้เอาเข้าประเทศ โดนยึดไว้เปล่าๆ … อาหารฝรั่งจานใหญ่แบ่งๆ กันกินได้ประหยัดดี… เวลาตรวจเอกสารเข้าเมืองให้ยื่นเป็นกลุ่มนะ บอกว่าเป็นครอบครัวจะได้สะดวกรวดเร็ว” แต่ไม่ได้ยินใครเตือนว่า ระวังอาจจะไปไม่ถึงที่หมายตามกำหนด
คำเตือนสำคัญเน้นว่า นั่งเครื่องบินนานๆ แบบนี้อาจจะเกิดอาการเท้าบวม หรือบางรายอาจถึงขั้นอึดอัดหายใจติดขัด เกิดอาการป่วยขณะเดินทางได้ เพราะการต้องนั่งห้อยขานานๆ นั่นเอง ประมาณว่าเลือดไปเลี้ยงน่องมากกว่าหัวนั่นแหละ เพราะฉะนั้นให้พยายามหาอะไรมารองขาไว้ หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นต้องจับจองเก้าอี้นั่งว่าง ๆ ให้ได้หลายๆ ที่ แล้วนอนเหยียดยาวหลับปุ๋ยไปเลย
ดังนั้น เมื่อเริ่มออกเดินทางจากนาริตะ แผนการหาที่นอนของเราจึงเริ่มขึ้น เริ่มจากนั่งตามเลขที่ที่ได้รับกันไปก่อน แต่ยังไม่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย ฉันและน้องหมวยเป็นหน่วยออกลาดตระเวนเดินสำรวจไปทางท้าย ๆ เครื่อง เพราะได้รับทริคมาว่าจะหาที่ว่างได้ง่ายกว่าด้านหน้า ๆ สำรวจพอสังเขปพร้อมเล็งที่ทางเอาไว้แล้วกลับไปนั่งที่เดิม พอเครื่องเริ่มออกวิ่งซึ่งจะแน่ใจได้ว่าประตูได้ปิดลงแล้ว จึงค่อยกระจายกำลังไปยังที่นั่งใหม่ซึ่งหมายตาไว้ บริเวณที่สามารถนอนได้สบายก็คือที่นั่งแถวกลาง ซึ่งจะมีประมาณ 4-5 ที่นั่ง แยกย้ายกันนั่งหัวกับท้ายแถวเก้าอี้ละคน เท่านี้ก็สามารถจับจองเตียงนอนย่อม ๆ ไว้ได้แล้ว รัดเข็มขัดเสียให้เรียบร้อย อุ่นใจรอได้เลยว่า ตลอดการเดินทางอันยาวนาน พวกเราจะได้ที่นอนหลับสบายแน่นอน
แต่ตกดึกคืนนั้น แทนที่จะได้หลับสบายกลับกลายเป็นโกลาหล คุณหมอประจำเครื่องถูกปลุก แอร์โฮสเตส และสจ๊วต 4-5 คน รีบหยิบกระเป๋าพยาบาลมาให้ คุณหมอกำลังวัดความดันและตรวจชีพจรใครบางคนอยู่ ฉันมองไปเห็นสามีภรรยาวัยกลางคน ภรรยาดูสีหน้าวิตกในขณะที่สามีนั่งน่ิง หายใจถี่ ๆ ให้คุณหมอช่วยเหลือให้ออกซิเจนอยุ่ ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก จนกระทั่งเสียงของกับปตันประกาศขึ้นว่า มีผู้โดยสารป่วยแต่ได้รับการช่วยเหลือให้ดีขึ้นแล้วไม่ต้องตกใจ ขอจงหลับให้สบาย เรากำลังมุ่งสู่มิชิแกนต่อไป
นาทีนั้นเองที่ฉันรู้สึกคิดถึง และกังวลว่ามาไกลจากบ้านเหลือเกิน พลางนึกถามตัวเองในใจว่า ถ้าให้นั่งเครื่องบินนานขนาดนี้อีกจะมาดีไหมหนอ? ได้แต่ปลอบใจตัวเองว่าเดินทางอีกไม่กี่ชั่วโมง ฉันก็จะได้เจอน้องแล้ว และที่แน่ ๆ ฉันหอบความหวังว่าอเมริกาน่าจะมีอะไรดี ๆ ให้คนชอบเดินทางได้พบเจอ ฉันถูกและผิดในเวลาเดียวกัน เพราะที่มิชิแกนน่าอยู่ สงบสบาย และมีหลายอย่างให้น่ารื่นรมย์จริงๆ แต่ผิดตรงระยะเวลาของการเดินทาง เพราะตามปกติเครื่องจะเริ่มออกเดินทางจากสนามบินดอนเมืองไปสนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่นเพื่อรอเปลี่ยนเครื่องที่นั่น ใช้เวลาบิน 5 ชั่วโมง แต่จากสนามบินนาริตะมุ่งหน้าสนามบินดีทร็อยส์นี่สิ แทนที่จะใช้เวลาเดินทาง 18 ชั่วโมงตามกำหนดการบิน พวกเรากลับต้องใช้เวลาถึง 206 ชั่วโมงกว่าจะถึงที่หมาย
9 โมงเช้าของวันที่ 11 กันยา (ตรงกับเวลาเที่ยงวันในนิวยอร์ค และประมาณสี่ทุ่มของวันที่ 12 ก.ย. ในเมืองไทย) ฉันสะดุ้งตื่นเพราะแอร์โฮเตสรีบเร่งปลุกพวกเราให้ตื่น ซักพักกัปตันประกาศว่าเรากำลังลดระดับลงฉุกเฉินเพื่อนำผู้โดยสารที่ป่วยไปพบแพทย์ที่สนามบินริชมอนด์เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ฉันชะโงกตักมองไปที่สองสามีภรรยาคู่นั้น. เขาเพิ่งขยับตัวงัวเงียตื่นเช่นกัน สามีของเธอดูรู้สึกตัวดี ท่าทางอาการดีกว่าเมื่อคืนเสียด้วยซ้ำทำไมต้องลงจอดฉุกเฉิน. หลังเครื่องจอดเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบลักษณะกึ่งทหารกึ่งหมอปนกัน. หอบหิ้วเครื่องมือขึ้นมาตรวจ แต่เขาปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นอะไรแล้ว ไม่ต้องนำตัวเขาไปก็ได้
ฉันกับตั่วเจ้ ใช้ความรู้ภาษาอังกฤษที่พอมี คุยกับแอร์โฮสเตสว่าเราต้องทำอย่างไรต่อไป ในขณะที่ผู้โดยสารคนอื่นเริ่มทยอยออกไปจากเครื่อง เขาบอกให้เราไปรับกระเป๋าแล้วไปตรวจคนเข้าเมือง และบางทีเราอาจต้องค้างคืนที่นี่ พวกเราออกจากเครื่องเป็นกลุ่มสุดท้าย เก็บข้างของอย่างงุนงง ไม่มีใครบอกอะไรเราได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น? ต้องอยู่นานแค่ไหน? จะนอนที่ไหน? จะไปต่อได้ยังไง? คำถามมากมายเกิดขึ้นในใจ
คาดว่าเวลานั้นทั่วโลกคงได้รับรู้ข่าว ได้เห็นภาพเหตุการณ์สะเทือนขวัญกันแล้วจากการรายงานอันทันสมัยฉับไวของทุกสำนักข่าว แต่พวกเราชาวไทยงงๆ สี่ห้าคนเพิ่งได้รับรู้ข้อมูลเบื้องต้นจากชาวลาวเมืองอุบลสามคน ที่เดินเข้าตัวอาคารสนามบินมาพร้อมๆ กัน
“เจ้าต้องไปตรวจคนเข้าเมืองก่อน แล้วมารับกระเป๋า คงยังไปไหนกันบ่ได้ เพราะอ้ายเผิ่งโทรไปถามลูกสาวที่อเมริกา บอกว่ามีเครื่องบินตกในนิวยอร์ค 3 ลำ อีกลำยังหาบ่เจอ !!! “
แวบแรกฉันคิดว่าเป็นเรื่องภาวะอากาศ จนเมื่อติดต่อหาน้องสาวที่มิชิแกนได้ด้วยโทรศัพท์ของโรงแรมจึงรู้ว่า เกิดโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ที่สุดของโลกขึ้น ผู้คนมากมายทยอยเดินออกจากเครื่องบินเข้าสู่อาคารสนามบิน คนมากคล้ายสถานีขนส่งหมอชิตตอนช่วงเทศการสงกรานต์ไม่มีผิด คอยกระเป๋าไปด้วยพวกเราพยายามเมียงมองหา และคอยสังเกตฟังการสนทนาของคนอื่นๆ ไปด้วย ผู้หญิงคนหนึ่งเอ่ยทักทายเราเป็นภาษาไทย ฉันร้องไชโยในใจ
เสียงทักทายภาษาไทยของเธอ ทำให้ฉันดีใจท่วมท้นราวได้เอกราชคืนมา พี่ก้อยเป็นคริสเตียนลูกอีสานผู้ได้รับโชคจากลอตเตอรี่กรีนการ์ด คัดเลือกให้เป็นประชาชนคนอเมริกันเต็มตัว เลยย้ายถิ่นฐานจะมาทำงานในชิคาโก เธอเดินทางมาเพื่อจะตระเตรียมที่อยู่ให้เรียบร้อยก่อนเริ่มงานปลายเดือนกันยา พวกเราอุ่นใจขึ้นมากเมื่อเจอพี่ก้อย เมื่อจะได้มีคนช่วยสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ฝรั่ง เพราะในภาวะคับขันเช่นนี้ ถ้าภาษาอังกฤษไม่เข้มแข็งพออาจทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก
อย่างอากงชาวจีนคนหนึ่งที่พวกเราพบตรงบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองแคนาดา แกพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย เห็นเราห้าหมวยตั้งใจจะขอความช่วยเหลือส่งภาษาจีนกลางมาทันที แต่เราก็จนปัญญาแกคงไม่คาดคิดว่าจะต้องตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ โชคดีตรงด่านตรวจเขามีล่ามภาษาจีนกลางช่วยเหลืออยู่ หวังว่าอากงจะโชคดีปลอดภัยได้เดินทางต่อไปพบลูกหลานอย่างที่ตั้งใจ
ส่วนพวกเราตอนนี้มีพี่ก้อยรวมอยู่ด้วยเป็นหกชีวิต ได้รับวีซ่าเข้าประเทศแคนาดาคนละหนึ่งเดือนเต็มโดยไม่ต้องดิ้นรนขอ รับกระเป๋าเดินทางแล้วหลังจากรอจนเหนื่อยอ่อนอยู่ 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่สายการบินมีทางให้เราเลือกสองทาง คือเข้าพักในโรงแรมที่สายการบินจัดให้พร้อมค่าอาหารคนละ 20 เหรียญแคนาดา รอจนมีเที่ยวบินเขาจะส่งพวกเราต่อไปยังจุดหมาย หรือจะโดยสารรถบัสเข้าประเทศอเมริกาทางด่านเมืองซีแอตเทิล แล้วค่อยหาทางเดินทางต่อไปเอาเอง หันหลังเหลียวมองสัมภาระและสมาชิกผู้อิดโรยแล้ว ฉันจึงขอให้พี่ก้อยช่วยแจ้งเขาว่า เรานอนรออยู่ที่นี่ดีกว่าอยู่ร่วมรวมกลุ่มกันนะพี่นะมีอะไรจะได้ช่วยกันคุย
ได้ที่นอนแล้ว เป็นโรงแรมขนาดกลางน่าสบายไกลจากสนามบินประมาณ 10 นาทีรถวิ่ง เก็บกระเป๋าในห้องแล้วพวกเราเอาคูปองเงินเหรียญที่ได้มารวมกัน 120 เหรียญ เอาไปแลกซื้ออาหารในร้านอาหารโรงแรมมาแบ่งกัน ประหยัดเอาไว้ก่อนอาจจะต้องอยู่อีกวันสองวัน (ตอนนั้นฉันคาดว่าอย่างนั้น) อาหารเช้าของวันนั้นตกถึงท้องพวกเราตอนเวลาบ่ายสามพอดี
ความโกลาหลเกิดขึ้นอีกครั้งในเช้าวันที่ 12 กันยา ฉันสะดุ้งตื่นเมื่อหยี่เจ้มาเคาะห้องเรียกบอกว่าโรงแรมโทรมาเร่งให้พวกเราลงไปเช็คเอาท์ไปช่วยคุยให้หน่อย เด้งตัวออกจากเตียงทั้งชุดนอนไปโทรศัพท์คุยกับสายการบิน แต่คำตอบก็ยังเป็นเหมือนเดิมว่ายังไม่มีใครสามารถเดินทางไปไหนได้และไม่มีค่าที่พักค่าอาหารให้พวกเราอีกแล้ว เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเขา พูดง่ายๆ สำนวนไทยๆ ว่าเขาลอยแพพวกเรา ดูแลตัวเองไปก่อนนะน้อง ประเมินว่าเราต้องคอยไปสอบถามข้อมูลที่สนามบินเอง ดังนั้นเพื่อเป็นการไม่ประมาทพวกเราตกลงเช่าห้องพักต่อกันเองไปก่อนอีกหนึ่งคืน ห้องหับก็กว้างขวางพอมีเตียงเดี่ยวไซส์ฝรั่งสองเตียง ชาวเอเซียอย่างพวกเรานอนเตียงละสองคนได้สบาย แล้วยังที่ว่างตรงกลางระหว่างเตียงกับด้านข้างอีกนิดหน่อยพอนอนกับพื้นได้ แอบเก็บเข้าของมานอนด้วยกันทั้งหกคนนี่แหละ
ฉันกับพี่ก้อยกลับไปที่ห้องพักแต่พบว่า คีย์การ์ดของพวกเราถูกตัดการทำงานแล้ว เฮ้ย!!! เราเข้าห้องไม่ได้แล้วข้าวของของฉันล่ะนี่มันแค่ 11 โมงเองนะ พี่ก้อยและฉันจำต้องลงไปล็อบบี้เพื่อแจ้งเช่าห้องต่ออีกวันด้วยกันในชุดนอนแบบหมดทางเลือก
ที่สนามบินสภาพไม่ต่างกับสถานีรถไฟหัวลำโพงในวันหยุดเทศกาล ทิ้งห่างความวุ่นวายในล็อบบี้โรงแรมเมื่อเช้าหลายช่วงตัว ผู้คนมากมายเต็มสนามบิน บ้างนั่งเฝ้ากระเป๋าเดินทาง บ้างเพิ่งตื่นนอนลุกไปล้างหน้าแปรงฟัน บ้างยังคงซุกตัวนอนอยู่ตามมานั่งยาว แถวต่อคิวรอเช็คเที่ยวบินตามเคาน์เตอร์ต่างๆ ยาวเหยียด เที่ยวบินเกือบ 400 เที่ยวถูกนำเครื่องลงที่นี่จึงไม่ต้องแปลกใจกับสภาพที่เห็น
รัฐบาลแคนาดาให้ความช่วยเหลือผู้คน ด้วยการนำผ้าห่มกองใหญ่มาให้หยิบยืมใช้นอนที่สนามบิน มีอาสาสมัครเดินช่วยเหลือแจกน้ำแจกกาแฟ แจกขนมนิดหน่อยพอให้หายหิวในตอนเช้า สถานการณ์การบินยังไม่ดีขึ้น ไม่มีเครื่องบินสักลำบนท้องฟ้า เราทำได้แค่ลงชื่อจองเที่ยวบินไว้ ดังนั้นกิจวัตรทุกเช้าของฉันกับพี่ก้อยคือนั่งรถ shuttle bus ของโรงแรมมาที่ สนามบินรอฟังคำตอบเรื่องเที่ยวบิน และหิ้วบะหมี่กับข้าวกล่องไปฝากคนอื่นๆ ที่โรงแรม
จะว่าไปลำพังตัวฉันเองในเหตุการณ์เช่นนี้ ก็มีช่วงอารมณ์สนุกตื่นเต้นเหมือนได้ผจญภัยอยู่ไม่น้อย เป็นห่วงก็แต่หม่าม้า ลองคิดถึงหัวใจที่หอบเอาความรักความคิดถึง บินข้ามมหาสมุทรมาพร้อมกระเป๋าแซมโซไนต์ใบโต ซึ่งบรรจุไว้ด้วยมาม่า ปลากระป๋อง และอาหารที่ลูกชอบไว้เสียแน่นหนัก ยิ่งเมื่อเราได้ที่พักเรียบร้อยปลอดภัยในโรงแรม และเริ่มส่งข่าวกลับไปเมืองไทย ป่าป๊าซึ่งกำลังเป็นห่วงอยู่ทางโน้นยื่นข้อเสนอให้กลับบ้าน ด้วยเกรงว่าหากเข้าอเมริกาแล้วเกิดสงครามจะกลับบ้านไม่ได้กันทั้งหมด ยิ่งเพิ่มภาวะกดดันตัดสินใจไม่ถูก มันแสดงผลออกทางร่างกายหม่าม้ามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะทั้งนอนไม่หลับ ลมขึ้น เรอบ่อยบ่อยตลอดวัน แม้จะพยายามไม่นอนกลางวันเพื่อปรับร่างกายให้ชินกับเวลาของอีกซีกโลกแล้วอย่างแข็งขัน และบรรเทาความหนักของความคิดถึงที่ติดตัวมาด้วยกันทยอยกินเสบียงไปบ้างแล้วก็ตาม
น้องสาวโทรมาหาทุกวันเช้าเย็น พยายามจองเที่ยวบินกับทางสายการบินจากทางอเมริกาให้อยู่ตลอดเวลา แต่ก็ถูกยกเลิกตามมาภายหลังทุกครั้งไป การติดต่อกับสายการบินยากลำบากขึ้นทุกที โทรศัพท์ไม่มีคนรับสาย ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตแปรปรวนใช้ไม่ได้ มีทางเดียวคือไปถามไถ่ที่เคาท์เตอร์สนามบิน
ทุกเช้าตั๋วเจ้จะไปถึงหนังสือพิมพ์ซึ่งทางโรงแรมนำมาบริการแขวนให้ถึงประตูห้องก่อนใคร เปิดดูภาพพยายามแปลข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ทุกคนฟัง ฟังกันไปดูภาพข่าวกันไปความกังวลใจกลับมีมากขึ้น แปรผันไปตามจำนวนหนังสือพิมพ์ที่เก็บไว้เป็นที่ระลึกในกระเป๋า แต่ผกผันกับจำนวนห่อบะหมี่และปลากระป๋องในกระเป๋าที่ลดลง
.