บทเพลงใต้แสงดาว

เพลงนี้ชื่อว่า บทเพลงใต้แสงดาว

ทั้งๆที่คืนที่แต่งเพลงนี้ ไม่เห็นแสงดาว

ปีนั้นรายการทุ่งแสงตะวัน แอบกระซิบมาว่า ไปเจอสถานที่ถ่ายทำ ที่แสนจะสุนทรีย์
นั่นคือ โรงเรียนเรือนแพ
โรงเรียนที่ว่านี้ อยู่ที่ จ.ลำพูน
เป็นโรงเรียนที่ใช้แพ เปิดเป็นที่ทำการเรียนการสอน เพราะว่าการสร้างเขื่อนทำให้ เด็กๆหลายคนที่เคยเดิน เคยนั่งรถไปโรงเรียน เกิดปัญหา
เพราะว่าน้ำท่วมบริเวณที่เคยอาศัย
การจะนั่งเรือไปโรงเรียน
ไม่สะดวก เพราะยังไม่มีเรือโรงเรียน เหมือนรถโรงเรียน
ถ้าจะพายเรือไป ก็คงนานจะนั่งเรือที่ใช้น้ำมันก็คงแพงเกิน
ทางโรงเรียนเลยเปิดเป็น วิทยาเขตเล็กๆให้
สอนกัน สามสี่ชั้น บนแพลำเดียว
มีครูดูแลการสอน หนึ่งคน
ข้างๆมีสนามฟุตบอลที่เทลาด เพราะเป็นพื้นที่อันเคยเป็นยอดภูมาก่อน
เด็กๆส่วนใหญ่ ใช้เวลาว่าง ตกปลา
บางครา ก็แอบหย่อนเบ็ดตอนครูสอนนั่นแหละ

ผมเขียนเพลงให้รายการทุ่งแสงตะวันมาหลายสิบตอน
น้อยครั้งที่จะได้ไปสถานที่ที่เขาถ่ายทำจริงๆ

ส่วนมากมักจะเป็นที่ซึ่งมีอะไรพิเศษ
เช่น โรงเรียนเด็กรักป่า
หรือว่า โรงเรียนเรือนแพที่ว่า

โดยนอกจากจะ ต้องแต่งเพลงประจำตอนแล้ว ยังต้องเป็นแขกรับเชิญ ร่วมออกรายการกับพี่นก นิรมลด้วย

ผมตอบรับด้วยความยินดี
และปรีเปรมกับการแต่งเพลง
ไปถึงก็แต่ง เพลงสนุก ๆก่อน เกี่ยวกับเรืออีโปง

พายๆเรืออีโปง
เรือก็โคลงเคลงจัง
ใครที่นั่งข้างหลัง
ระวังจะตกน้ำปิง

แต่พอใกล้วันจะกลับ อารมณ์เพลงชุดอันปลั้กของ รอด สจ๊วต ก็เริ่มสิง
เกิดอยากมีบทเพลงที่แสนจะคลาสสิคกับเขาบ้าง
เลยแต่งเพิ่มอีกเพลง

โดยเริ่มเอากีร์ต้ามานั่งบนแพ
มองเห็นแม่น้ำก็ ซัดเลย

ผ่านไปคล่้ายดั่งสายน้ำไหล
จากไกลแล้วไม่ลืมคำสัญญา สัญญา

ผมเริ่มชอบมัน ตั้งแต่มีคำว่า สัญญา ติดกันสองครั้ง เหมือนเราสัญญา กันจริงๆ

พอมองไปเห็นพระอาทิตย์
ก็แต่งอีกว่า
ให้เป็นเหมือนดังตะวัน
จากกันแล้วยังหวลคืน กลับมา กลับมา
ผมเล่นกลับมา เบิ้ลอีกที
ตอนค่ำผมขึ้นไปบนหลังคาของแพเพื่อหาวัตถุดิบ
นึกในใจว่า คงมีแสงดาว สวยๆ สร้างบรรยากาศ
ที่ไหนได้พอขึ้นไป ท้องฟ้าแทนที่จะเกลื่อนไปด้วยดวงดาว กลับมีเมฆเต็มไปทั้งผืนฟ้า

ผมพยายามมองหาดาว ไม่เจอเลยสักกะดวง
แต่ตอนขึ้นไป ใจมันจะเอาดาว มาใช้ทำงานเพลงสักกะหน่อย ท่อนสุดท้าย

แล้วด้วยสิ เลยนึกขึ้นมาว่า เบื้องหลังเมฆนั่น ดาวยังคงลอยอยู่ เพียงแต่เราไม่เห็น

ท่อนสุดท้าย
จึงกลายเป็น

อาจมีเมฆมาบดบัง
แต่เรา ก็ยัง เฝ้ารอ เฝ้ารอ (เฝ้ารอ)
ซัด เฝ้ารอ เข้าไปสามครา

กลายเป็นเพลงที่มีสามท่อน
แต่ไม่มีท่อนแยก
ไม่อยากแต่งเพิ่มและรู้สึกว่า มันจบแล้ว
ครบถ้วนสิ่งที่อยากบอกแล้ว
ไม่มีกฎหมายว่า เพลงต้องมีกี่ท่อนมีท่อนแยกหรือท่อนฮุค
ส่งให้เพื่อนทำดนตรี
เพื่อนบอกว่า ไม่เป็นไร มีแค่ไหน ถ้ามันพอดี มันก็ดีพอแล้ว
“แต่งง่ายๆแบบนี้แหละแต่งยากจะตาย”
ผมบอกว่า ทำดนตรีง่ายๆนะ
ขุนบอกว่า จะพยายามจัดให้เต็มความสามารถที่จะง่าย เขาใส่เสียงอังกะลุงเข้าไปในเพลงได้อย่างมีเสน่ห์และกลมกลืน
ตอนร้องผมอิ่มใจ ในสามท่อนของเพลงนี้
และบทเพลงนี้ นอกจากจะประกอบอยู่ใน รายการทุ่งแสงตะวัน ตอนโรงเรียนเรียนแพแล้ว
ยังกลายเป็นเพลงท้ายของอัลบั้ม นักเดินทาง
และ
เป็นบทเพลงที่ทำให้ ได้รับรางวัลนักร้องชายยอดเยี่ยม พิฆเนศทองพระราชทาน ปีแรก

เป็นช่วงเวลาที่ดีช่วงหนึ่งในชีิวิต
เป็นบทเพลงหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่า เราเป็นนักร้องจริงๆแล้วหรือนี่

เสาร์ที่ 11 มกรา 2514

(เขียนเล่าเรื่องนี้ในวันเด็ก…)
รู้สึกแวบขึ้นมาว่า
ยังไม่ได้กลับไปเยือนโรงเรียนเรือนแพอีกเลย
สัญญา สัญญา สัญญา
ถ้ามีเวลา จะกลับไปเยือนอีกสักครา
ไม่รู้ว่าโรงเรือนกับเรือนแพ ยังอยู่ดีหรือไม่…..

———————————————————————————————————————–

อ่านเพลงอื่นๆได้ที่นี่

เขียนถึงครู
กาแฟ
ฉันจะยืมยางลบใคร
เติมใจให้กัน
หัวใจหล่นที่สกลนคร

2 ความเห็น

แสดงความเห็น