หัวใจหล่นที่สกลนคร
ครูสลา เป็นนักแต่งเพลง ที่ผมสนใจและอยากรู้จัก เมื่อครูไปทำค่ายต้นกล้าวรรณกรรมตามโรงเรียน ผมอยากจะไปช่วย
ไปแล้วก็ช่วยอะไรไม่ค่อยได้มากนัก
เพราะความที่ครูมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย มีคนไปช่วยครูอยู่เต็มเวที
เฝ้าแอบจด แอบจำ และแอบเฝ้าดูความสำเร็จของครูมาเป็นระยะ
ได้โอกาสประชิดติดต่อให้ครูมาเป็นวิทยากรสอนแต่งเพลงในค่ายคนพิการ ที่ผมได้มีโอกาสจัดการ นั่งฟังเวลาครูบรรยายเพื่ออยากเรียนรู้ว่า ครูมีกลวิธีในการแต่งเพลงเช่นไร จึงประสบความสำเร็จ และผลงานได้รับความนิยม รวมทั้งเป็นคนที่มีคนรักคนศรัทธา
เมื่อมีโอกาสได้ติดตามไปเข้าค่ายที่โรงเรียนกุศุมาลย์ ไปฟังซ้ำอีกครั้ง
หลักของครูก็มีอยู่ประมาณว่า
ขึ้นต้นให้โดนใจ เนื้อในต้องคมชัด
สร้างสรรค์ตัวละครขึ้นมาในเพลง
อื่นๆอีก
และที่ผมจำมาติดตรึงใจ
คือครูบอกว่า ถ้าอยากให้เพลงออกมาได้ดี เป็นนักแต่งเพลงที่ดี
ต้องฝึกโดนติ
ผมถามว่าทำไมโดนติถึงต้องฝึกด้วย
แกว่า
มันยากที่จะทำใจ เมื่อเราสร้างสรรค์ผลงานเพลงออกไปแล้ว มีคนมาบอกว่าไม่ดี อย่างโง้น ไม่ดีอย่างงี้
แต่เราต้องฝึก ต้องฟังคำติได้ และนำมาปรับปรุงผลงานให้ดียิ่งๆ
วันสุดท้ายในค่าย มีพิธีบายศรีสู่ขวัญ
เสียงเพลงบายศรี สร้างบรรยากาศแปลกๆชวนขนลุก ผมซึมซับอารมณ์นั้นและกลวิธีสร้างเพลงของครูติดรูขุมขนมาด้วย
บนเครื่องบินลำเล็กๆผมควักปากกากับสมุดบันทึกออกมา
แล้วบรรจง
เขียนคำที่คิดว่า ขึ้นต้นให้โดนใจ
“หัวใจมันหล่นอยู่ที่สกลนคร”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)