เป็ด

เป็ด

-เป็ด- เป็นคำเสียดเย้ย 
ว่า บินได้แต่บินได้ไม่สูง ว่ายน้ำได้ไม่คล่อง และร้องเสียงไม่ไพเราะ

หมายถึงคนที่ทำอะไรได้หลายๆอย่าง แต่ไม่เก่งสักอย่าง

อาจมีบางใคร นำมาค่อนขอดกับนักศึกษาวิชานิเทศศาสตร์
คล้ายว่า ภาษาไม่ดีเหมือนเด็กอักษร
แสดงไม่เก่งเหมือนคนที่จบการละคร 
ความรู้ทางการเงิน และการเมืองก็ไม่แน่น เหมือนคนที่เรียนการตลาดหรือ รัฐศาสตร์

จะกล่าวอย่างผิวเผินเช่นว่านั้นก็ได้

จากคำเสียดเย้ยดังว่าแทนที่ คนนิเทศศาสตร์จะออกมาปกป้องชี้แจง 
นิเทศศาสตร์ จุฬา กลับเอาคำว่า “เป็ด”
มาสร้างเป็นแบรนด์
จะทำกิจกรรมอะไร ก็ใช้เป็ดเป็นสัญลักษณ์

ในฐานะคนที่ร่ำเรียนวิชานี้มาบ้าง
ประกอบสัมมาชีพ หาเลี้ยงตน และคอยบอกคนรุ่นหลังที่ถามไถ่
อยากเข้ามาศึกษาหาวิชา ก็จะบอกเสมอว่า ถ้าพ่อแม่ไม่ว่า อยากเรียนก็มาเรียนเถิด 
จะสถาบันไหนก็ได้ จบแล้วไม่จำต้องทำงานสาขานี้ จะไปเป็นแอร์โฮสเตส จะขายประกัน
หรือ เอาไว้ประดับสติปัญญา  ก็น่าเรียนรู้

ที่เขียนนี่

ไม่ได้แปลว่า ผู้เขียนจะทำอะไรเก่ง จนยอมรับว่าตัวเองเป็นเป็ดไม่ได้

หลายครั้งที่ยังรู้สึกตัวเอง ว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ
ร้องเพลงก็ผิดเพี้ยน เล่นดนตรีก็ไม่คล่อง เขียนหนังสือก็ไม่คม
ได้แต่พยายามก้มหน้าก้มตาทำงานให้พอใช้ได้

ส่วนการไม่เก่งในบางสิ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำงานเชิงนิเทศศาสตร์ได้ไม่ดีไปด้วย

IMG_4898

หากเราลองมองในอีกมิติของการสื่อสาร
ถ้าคุณเป็นนักข่าวนักเขียนแล้ว ถามเศรษฐีว่า “ใช้เงินวันละเท่าไหร่” 
ครั้นเขาบอกว่า “ภรรยาให้ใช้วันละสามร้อย”
แล้วคุณก็มาเขียนสรุปว่า เขาช่างสมถะ ไม่ฟุ่มเฟือย

นั่นคือคุณ ไม่สามารถตีความ การสื่อสาร ของเขาได้
เพราะ เขาไม่ได้พูดโกหก แต่เขาไม่ได้บอกทั้งหมด โดยเฉพาะสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ
ถ้าคุณรู้การเมืองดี แต่ไม่รู้เท่าทันวิธีตอบของนักการเมือง คุณก็จะทำบทสัมภาษณ์ได้ไม่ดีนัก

แล้วคุณก็จะกลายเป็นคนที่ไม่สามารถ สื่อสาร หรือส่งสารต่อไปยังมวลชนได้

วิชานิเทศศาสตร์ จึงไม่ใช่วิชาว่าด้วย การเงิน การเมืองหรือ การกีฬา

แต่ทว่า หัวใจคือวิชาการสื่อสาร
ซึ่งมีความซับซ้อน ลื่นไหล และยิ่งต้องสื่อสารกับมวลชน ผ่านสื่อต่างๆ
จึงเป็นหลักวิชา ที่คณาจารย์ และนักวิชาการทั่วโลก แยกให้เป็น แขนงวิชา 
ทั้งได้ร่วมกันก่อสร้างตั้งเป็น นิเทศศาสตร์
เริ่มจากไม่กี่สถาบัน  ปัจจุบันทวีคูณไป ไม่แพ้สาขาวิชาอื่นใด

ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการแยกหรือยกให้สื่อมวลชนเป็น ฐานันดรสี่(เดี๋ยวจะยาวไปกันใหญ่)
ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ไม่ว่าเราจะเป็นเป็ดหรือไม่
เรา ไม่ควรไปต่อว่าหรือเหมารวมเอาคนอื่นๆในแวดวง
จะนิเทศฯจุฬา

หรือนิเทศฯที่ไหน ไปลากไปโยงว่า
ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทำงานในสาขาวิชาสื่อสาร จากแหล่งอื่นๆ มานิยามให้เขาเป็นเป็ดไปด้วย)

หากปล่อยปละละไว้ ต่อไปอีกหน่อยเราอาจจะไม่ใช่ “เป็ด”เฉยๆ
แต่จะกลายเป็น “เป็ดในกะลา”
ที่ไม่ออกมาดูฟ้าดูโลกกันบ้างเลย

แสดงความเห็น